RSS

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 10 : เกียจคร้านและไม่สนใจศึกษาศาสนาในมัจลิสอิลมีย์แห่งโลกความจริง)

Facebook_featured

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๑๐ : เกียจคร้านและไม่สนใจศึกษาศาสนาในมัจลิสอิลมีย์แห่งโลกความจริง

ช่องทางการได้รับความรู้ในโลกโซเชียลฯนั้นมีหลากหลายจนคนรู้สึกว่าเพียงพอแล้ว มีบทความมากมายในเว็บไซต์และบล็อกต่างๆ เพียงแค่เสิร์ชหาคีย์เวิร์คสำคัญก็ได้ข้อมูลมาทันที เช่นเดียวกับลิงค์การเรียนการสอนและเทปบรรยายต่างๆที่มีอย่างครบถ้วน ทำให้ผู้คนเกียจคร้านและรู้สึกว่าการเรียนรู้ศาสนาบนโลกมายาออนไลน์นี้เพียงพอแล้วสำหรับตน

ทว่า…การเรียนรู้ศาสนาบนโลกโซเชียลฯนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้น ที่ยังไม่มีพื้นฐานความรู้ศาสนาที่ดีและถูกต้อง อีกทั้งการเข้าร่วมในมัจลิสอิลมีย์แห่งโลกความจริง ก็มีผลบุญความประเสริฐมากมายเหลือคณา ได้พบเจอกับเหล่าคนดี ได้เห็นบุคลิกภาพและมารยาทที่ดีของครู และอื่นๆ ซึ่งเราไม่อาจได้รับมาได้จากโลกมายานี้

ท่านนบี ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า

وَمَا اجْتَمَعَ قَوْمٌ فِي بَيْتٍ مِنْ بُيُوتِ اللَّهِ يَتْلُونَ كِتَابَ اللَّهِ وَيَتَدَارَسُونَهُ بَيْنَهُمْ إِلَّا نَزَلَتْ عَلَيْهِمُ السَّكِينَةُ وَغَشِيَتْهُمُ الرَّحْمَةُ وَحَفَّتْهُمُ الْمَلَائِكَةُ وَذَكَرَهُمُ اللَّهُ فِيمَنْ عِنْدَهُ

          ไม่มีกลุ่มชนใดที่ชุมนุมกันในบ้านหลังหนึ่งหลังใดจากบ้านทั้งหลายของอัลลอฮ โดยที่พวกเขาอ่านคัมภีร์ของอัลลอฮและเรียนรู้จากกันและกัน นอกเสียจากว่า ความสงบจะลงมายังพวกเขา ความเมตตาจะแผ่คลุมพวกเขา บรรดามลาอิกะฮฺจะโอบล้อมพวกเขา และอัลลอฮจะตรัสถึงพวกเขาในหมู่(มวลมลาอิกะฮฺ)ผู้ที่อยู่ ณ ที่พระองค์ (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขที่ 2699 และคนอื่นๆ)

สิ่งที่เราพบได้โดยทั่วไปในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์คคือ คำพูดและรูปภาพที่กระตุ้นอารมณ์ความอยาก ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ความใคร่ ความมักมากในเงินทอง อาหารการกิน ความสุขสำราญบนโลกดุนยา เราจะพบเจอการพร่ำบ่น การด่าทอ นินทา ความอิจฉาริษยา ความขุ่นเคือง โกรธแค้น และความเลวร้ายต่างๆที่สามารถฉุดดึงจิตใจของเราให้เสื่อมทรามลงได้เสมอ และพร้อมจะทำลายบุคลิกภาพและมารยาทของเราให้เสียหายได้ตลอดเวลา

แต่ในมัจลิสอิลมีย์ สถานที่รวมตัวของครูและคนดี จิตใจของเราจะถูกยกสูงขึ้นและมารยาทของเราก็จะงดงามด้วย  ณ ที่นั่นเราจะได้เห็นแบบอย่างโดยตรงในเรื่องอัคลาค , ตักวา , ความอดทน , ความนอบน้อม และความสำรวมตน จากบรรดาอุสตาซ/ชัยคฺหรือจากพี่น้องที่มาร่วมชุมนุมด้วย เราจะได้จับมือสลามและกอดพวกเขา จะได้รับฟังคำพูด น้ำเสียง และความคิดของเขาซึ่งบริสุทธิ์และงดงาม อัลลอฮจะทรงขัดเกลาจิตใจของเราให้สะอาดและเข้มแข็งด้วยพวกเขา และทำให้ความคิดของเราเที่ยงตรงและกว้างไกลด้วยความเฉลียวฉลาดของพวกเขา

เนื้อหาความรู้อันเป็นทฤษฎีนั้นใครๆก็พูด พิมพ์ และแชร์ได้ แต่การปฏิบัติและผนวกมันจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งจะกลายเป็นแบบอย่างอันงดงามแก่ผู้อื่นต่อไปนั้น มีเพียงบางคนที่อัลลอฮทรงประทานเตาฟีกให้แก่เขาเท่านั้นที่สามารถทำได้ ขออัลลอฮทรงประทานมันแก่เราทุกคน…อามีน

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 9 : อัปเดตสเตตัสตักเตือนบ่อย แต่ไม่ได้พยายามปฏิบัติตาม)

Best images for facebook timeline cover Pen Pen

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๙ : อัปเดตสเตตัสตักเตือนบ่อย แต่ไม่ได้พยายามปฏิบัติตาม

คนส่วนหนึ่งมักชอบแบ่งปันคำนะศีหะฮฺและสเตตัสความรู้ศาสนาอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะมาจากตัวเขาเองหรือแชร์มาจากสเตตัสของคนอื่น แต่เขากลับไม่มีความพยายามที่จะปฏิบัติตามคำนะศีหะฮฺนั้น และบางที่กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำนะศีหะฮฺนั้นด้วยซ้ำไป เขาตักเตือนผู้อื่นมามากมาย แต่กลับลืมตัวเอง ขออัลลอฮทรงคุ้มครองเราจากสภาพเช่นนี้ แท้จริงเรื่องนี้มีโทษร้ายแรงนัก อัลลอฮุ ตะอาลา ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لِمَ تَقُولُونَ مَا لَا تَفْعَلُونَ كَبُرَ مَقْتًا عِنْدَ اللَّهِ أَنْ تَقُولُوا مَا لَا تَفْعَلُونَ
โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เหตุใดพวกเจ้าถึงได้พูดสิ่งที่พวกเจ้ามิได้กระทำเล่า? นั่นเป็นที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ณ ที่อัลลอฮ หากพวกเจ้าพูดสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ (บทอัศศ็อฟ โองการที่ 3)

ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮจะไม่ถามว่า เราได้พูดเรื่องศาสนา หรือแชร์สเตตัสนะศีหะฮฺไปมากเท่าไหร่ แต่พระองค์จะทรงถามถึงการปฏิบัติของเราต่างหาก ท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลฯ เคยกล่าวไว้ว่า

لَا تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ فِيما فَعَلَ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَ أَنْفَقَهُ، وَعَنْ جِسْمِهِ فِيمَ أَبْلَاهُ
สองเท้าของบ่าวคนหนึ่งจะยังไม่เคลื่อนไปไหนในวันกิยามะฮฺ จนกว่าเขาจะถูกถึงอายุของเขาว่ามันหมดไปกับสิ่งใด? เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขาได้ปฏิบัติไหม? เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาจากไหน? และเขาใช้จ่ายไปเพื่อสิ่งใด? และเกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาได้ใช้กับสิ่งใด? (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ และท่านกล่าวว่า หะดีษหะสันเศาะฮีหฺ , ดู สิลสิละฮฺ อัศเศาะฮีหะฮฺ 2/666)

ดังนั้น อย่าพยายามเพียงแค่โพสส์ แค่แชร์คำนะศีหะฮฺและเนื้อหาความรู้ศาสนาเพียงอย่างเดียว การทำสิ่งเหล่านี้ดีแล้ว แต่มันจะเป็นสิ่งที่อันตราย หากทำเพียงแค่นั้น จงพยายามปฏิบัติตามคำนะศีหะฮฺและความรู้ศาสนาที่ได้รับและนะศีหะฮฺคนอื่นด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว…ตัวเราเองที่น่าจะขาดทุนอย่างย่อยยับ

ท่านอบูดัรดาอ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

لا تكون عالماً حتى تكون متعالماً ، ولا تكون بالعلم عالماً حتى تتكون به عاملاً
ยังไม่ใช่ผู้รู้ จนกว่าจะเป็นผู้เรียนรู้ และยังไม่เป็นผู้รู้ในความรู้หนึ่ง จนกว่าจะปฏิบัติมันเสียก่อน (อะวาอิกุฏ เฏาะลับ หน้าที่ 5 – อัชชามิละฮฺ)

ท่านฟุฎ็อยลฺ บินอิยาฎ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

لا يزال العالم جاهلاً بما علم حتى يعمل به ، فإذا عمل به كان عالماً
ผู้รู้คงหนึ่งจะยังคงถือว่าโง่เขลา ตราบใดที่เขายังไม่ปฏิบัติตามความรู้ และเมื่อใดที่เขาได้ปฏิบัติตามความรู้แล้ว เขาก็จะกลายเป็นผู้รู้(ที่แท้จริง) (อะวาอิกุฏ เฏาะลับ หน้าที่ 6 – อัชชามิละฮฺ)

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , ,

#ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 8 : หาคู่และทำความรู้จักกันระหว่างชาย-หญิงอย่างผิดหลักการศาสนา)

facebook-love

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ 8 : หาคู่และทำความรู้จักกันระหว่างชาย-หญิงอย่างผิดหลักการศาสนา

โลกมายานี้คือ เส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ที่มองดูและแสวงหาคู่ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้มันเพียงเพราะต้องการ “จุดไฟรัก” โดยไม่มีเป้าหมายที่จะนิกาหฺกัน จึงเกิดการทำความรู้จักและสนิทสนมกันโดยผิดหลักการศาสนา

โลกเฟสบุ๊คไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมเลยในการหาคู่ครอง เพราะมันไม่ได้รับประกันเลยว่าบุคลิกภาพ มารยาท และความรู้ศาสนาของคนๆหนึ่งดีแล้วแน่นอน แม้ว่าเราจะเห็นเขาอัปเดตสเตตัสดีๆ โพสส์กิจกรรมศาสนาต่างๆ และคอยตักเตือนผู้คนในเรื่องศาสนาก็ตาม

วัยรุ่นมุสลิมที่ไม่เข้าใจศาสนาจะถูกชัยฏอนหลอกลวงไปโดยง่าย เมื่อเห็นรูปโปรไฟล์ที่สะดุดตาของฝ่ายหญิง พวกเขาก็เข้าไปทักทาย และทำท่าทีพูดคุยสอบถามเรื่องต่างๆ จนบางครั้งความสัมพันธ์ก็พัฒนาไปจนกลายเป็นแฟนกัน บางคนเข้าใจหลักการเรื่องขอบเขตชาย-หญิงแล้ว พวกเขาไม่ได้มีเจตนาที่จะเข้ามาในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อหาคู่แต่อย่างใด แต่ด้วยศรัทธาที่อ่อนแอ พวกเขาจึงถูกชัยฏอนหลอกล่อจนกระทั่งเริ่มต้นสัมพันธ์ที่ไม่หะลาล ทั้งๆที่พวกเขาก็รู้ดีอยู่แล้ว

จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนประหลาดใจ เช่น สตรีเบื้องหลังฮิญาบที่ปกปิดสนิท แต่เกียรติแห่งฮิญาบของเธอนั้นกลับเปิดกว้างในอีเมล , อินบ๊อกส์ของเฟสบุ๊ค , เอ็สเอ็มเอส หรือแชตไลน์ เช่นเดียวกับเพศชาย พวกเขาคือคือ นักดะอฺวะฮฺ คือชาวสะละฟีย์ คือคนมีเครา พวกเขาอัปเดตสเตตัสและลิงค์ต่างๆเกี่ยวกับศาสนา แต่ความสำรวมตนและชีวิตจริงของเขาไม่เหมือนกันเลย…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 7 : ทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺหรือละหมาดญะมาอะฮฺสาย(มัสบูก) เพราะสาละวนอยู่กับเฟสบุ๊ค)

facebook-news

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๗ : ทิ้งการละหมาดญะมาอะฮฺหรือละหมาดญะมาอะฮฺสาย(มัสบูก) เพราะสาละวนอยู่กับเฟสบุ๊ค

นี่คือฟิตนะฮฺของเฟสบุ๊ค สนุกกับการเล่น แชต เปิดลิงค์นั้นที ลิงค์นี้ที จนกระทั่งหลงลืมและละเลยการละหมาด และบ่อยครั้งทำให้พลาดหรือล่าช้าในการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิด ทั้งๆที่เสียงอะซาน หรือแม้กระทั่งเสียงอิกอมะฮฺดังขึ้นแล้ว การล่อลวงของชัยฏอนช่างร้ายกาจนัก ทั้งๆที่การละหมาดคือเสาหลังของศาสนา และเป็นการงานแรกที่จะถูกสอบสวนและคิดบัญชี หากการละหมาดดี การงานอื่นๆก็จะดีตาม แต่หากไม่แล้ว ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป และแน่นอน การรีบเร่งไปยังมัสญิดนั้นมีความสำคัญและคุณค่ามาก

          ท่านนบี ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า                             

لَوْ يَعْلَمُ النَّاسُ مَا فِى النِّدَاءِ وَالصَّفِّ الأَوَّلِ ثُمَّ لَمْ يَجِدُوا إِلاَّ أَنْ يَسْتَهِمُوا عَلَيْهِ لاَسْتَهَمُوا وَلَوْ يَعْلَمُونَ مَا فِى التَّهْجِيرِ لاَسْتَبَقُوا إِلَيْهِ

          หากมนุษย์รับรู้ถึงสิ่ง(หมายถึง ผลบุญ)ที่มีอยู่ในการประกาศเชิญชวน(อะซาน)และแถวแรกสุด(ของแถวละหมาดญะมาอะฮฺ) แล้วพวกเขาก็ไม่พบใคร(ที่มีสิทธิ์ในผลบุญนั้น) นอกจากพวกเขาจะต้องจับฉลากเท่านั้น พวกเขาก็จะจับฉลากกัน และหากพวกเขารู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในการรีบไปยังมัสญิดก่อนล่วงหน้าแล้วไซร้ แน่แท้พวกเขาจะแย้งชิงมันกันอย่างแน่นอน (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

และพึงดูแบบอย่างจากบรรดาอุละมาอ์ของพวกเรา ท่านวากิอฺ บิน อัลญัรรอหฺ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

كَانَ الأَعْمَشُ قَرِيْباً مِنْ سَبْعِيْنَ سَنَةً لَمْ تَفُتْهُ التَّكْبِيْرَةُ الأُوْلَى.

          เมื่ออัลอะอฺมัชอายุย่างเข้า ๗๐ ปีนั้น เขาไม่เคยพลาดการกล่าวตักบีรครั้งแรก(ในการละหมาดญะมาอะฮฺ)มาก่อนเลย (สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 6/345 , ดารุลหะดีษ , ไคโร , ปีฮัจเราะฮฺ 1427 – อัชชามิละฮฺ)

มุฮัมมัด บินสะมาอะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

مكثت أربعين سنة لم تفتني التكبيرة الأولى إلا يوما واحدا ماتت فيه أمي ففاتتني صلاة واحدة في جماعة فقمت فصليت خمسا وعشرين صلاة أريد بذلك التضعيف

          ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่นาน 40 ปี ไม่เคยพลาดการกล่าวตักบีรแรกเลย นอกจากวันเดียวเท่านั้น คือวันที่มารดาของข้าพเจ้าจากไป ข้าพเจ้าจึงพลาดจากการละหมาด(ญะมาอะฮฺ)ไปหนึ่งครั้ง ข้าพเจ้าจึงละหมาด 25 ครั้ง เพื่อการเพิ่มทวีคูณขึ้น(ของผลบุญ) (ตะหฺซีบุต ตะหฺซีบ 9/204 , มัฏบะอะฮฺ ดัยรอติล มะอาริฟ , อินเดีย , พิมพ์ครั้งที่ 1 , ปีฮิจเราะฮฺ 1326 – อัชชามิละฮฺ)

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 6 : เสพติดเฟสบุ๊คและใช้เวลาอย่างไร้ค่า)

Facebook-addict1

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๖ : เสพติดเฟสบุ๊คและใช้เวลาอย่างไร้ค่า

การเสพติดเฟสบุ๊คอาจเป็นแบบนี้…
– หลังจากละหมาดศุบหฺเสร็จ เปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คหรือสมาร์ทโฟน ล็อกอิน เปิดดูสเตตัสที่ได้อัปเดตไว้เมื่อคืน(ทั้งๆที่เป็นสเตตัสที่ไม่ค่อยสาระ แค่การระบายอารมณ์หรือเล่นๆเท่านั้น)

– ขณะเรียนหรือทำงาน ก็คอยเปิดดูอยู่เรื่อยๆ หรือเมื่อถึงเวลาพักเบรกเล็กน้อย ก็เปิดเฟสบุ๊คดูและอัปเดตสเตตัส บางครั้งก็เป็นสเตตัสบ่นเรื่องต่างๆ บ่นเรื่องเรียน เรื่องงาน พูดถึงอาจารย์ พูดถึงเจ้านายหรือหัวหน้า และเรื่องอื่นๆที่ไม่มีประโยชน์

– ในตอนเย็น หลังจากเลิกเรียน/งานแล้วก็เปิดดูเฟสบุ๊คอีก เปิดดูข่าวใหม่ๆจากลิงค์ต่างๆ ตอนแรกก็เจตนาจะเปิดลิงค์ต่างๆที่มีสาระ แต่เห็นลิงค์ซึ่งไม่มีสาระที่เพื่อน(Friend)โพสส์เอาไว้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น สุดท้ายก็เปิดดูแล้วก็หมกมุ่นอยู่กับมัน หรือบางทีก็ง่วนติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในเรื่องบันเทิง การเมือง และอื่นๆ “เหตุการณ์นี้ , กรณีนั้น , เรื่องอื้อฉาวนี้ , ข่าวดังนั้น” รู้ไว้ก็ดีครับ แต่บางทีพวกเราก็หมกมุ่นมากเกินไป กระทั่งติดตามกันจนเผลอตัว ทั้งๆที่เมื่อฟังข่าวคราวดังกล่า ส่วนมากแล้วเราก็รู้สึกเจ็บใจหรือรำคาญเสียเปล่าๆ

– มัฆริบแล้วก็อาจจะยังมีบางคนเปิดเฟสบุ๊คขึ้นมาอัปเดตสเตตัส

– หลังจากละหมาดอิชาอ์ ก่อนเข้านอนก็เปิดเฟสบุ๊คอีกครั้ง ถ่ายทอด/ระบายอารมณ์ ความรู้สึก เหตุการณ์ และสิ่งที่ได้พบเจอมาตลอดทั้งวัน และบางทีก็เป็นสเตตัสที่อาจทำลายผลบุญของเราได้เนื่องจากมีริยาอ์ เช่น เราได้ทำอิบาดะฮฺนั้นนี้ หรือเพิ่งละศีลอดสุนนะฮฺ หรืออื่นๆ

ยังไม่รวมความผิดที่หะรอมและบาปอย่างชัดเจนที่เราทำกันบนเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างการฟังเพลงฟังดนตรี เปิดดูคอนเซิร์ต และเว็ปไซต์ลามกอนาจารทั้งหลาย สิ่งนี้ไม่ใช่แค่เป็นการใช้เวลาอย่างไร้คุณค่าเท่านั้น แต่เป็นภัยมหันต์มากด้วย…ขออัลลอฮทรงคุ้มครองจากสิ่งนี้

หากเป็นเช่นนี้ แล้วเราเอาเวลาไหนสำหรับการศึกษาความรู้ ทำงานดะอฺวะฮฺ ใช้เวลากับครอบครัว พบปะสมาคมกับคนในสังคม และทำงาน แน่นอนเราอาจมีเจตนาศึกษาความรู้บนโลกมายานี้ แต่การศึกษาความรู้ในโลกความเป็นจริงนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาให้มากกว่า การเข้าร่วมในมัจญ์ลิสอิลมีย่อมมีความประเสริฐกว่าอย่างแน่นอน และแน่นอนเราอาจมีเจตนาทำการดะอฺวะฮฺบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วย แต่การดะอฺวะฮฺในโลกความจริงนั้นจำเป็นต้องมีสัดส่วนที่มากกว่า ดะอฺวะฮฺกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และคนอื่นๆ การมัวแต่เล่นเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นทำลายเวลาไปเสียเปล่าๆ ทั้งที่เวลานั้นคือสิ่งที่ล้ำค่ามาก

ท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลฯ ได้กล่าวว่า

نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنَ النَّاسِ: الصِّحَّةُ وَالفَرَاغُ
ความโปรดปรานสองประการที่คนส่วนมากละเลยคือ สุขภาพร่างกายที่ดีและเวลาว่าง (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลขที่ 6412)

ท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า

ﻣﺎ ﻧﺪﻣﺖ ﻋﻠﻰ ﺷﻲﺀ ﻧﺪﻣﻲ ﻋﻠﻰ ﻳﻮﻡ ﻏﺮﺑﺖ ﴰﺴﻪ ﻧﻘﺺ ﻓﻴﻪ ﺃﺟﻠﻲ ﻭﱂ ﻳﺰﺩ ﻓﻴﻪ ﻋﻤﻠﻲ.
ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกเสียใจต่อสิ่งใดมากไปกว่าความเสียใจของข้าพเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงลงในวันหนึ่ง โดยที่อายุไขของข้าพเจ้าเหลือน้อยลง แต่การงานของข้าพเจ้ากลับมิได้เพิ่มขึ้นเลย (ดู มิฟตาหุล อัฟการ และเมาสูอะฮฺ กุตาบ อัลมิมบัร)

ท่านหะสัน อัลบัศรีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

أدركت أقواما كان أحدهم أشح على عمره منه على درهمه
ข้าพเจ้าได้พบกับบางกลุ่มชน โดยที่คนหนึ่งของพวกเขานั้นมีความตระหนี่ถี่เหนียวต่ออายุ(เวลา)ของตนมากกว่าดิรฮัม(ทรัพย์สิน)เสียอีก (นำมาจากบทความ “วักตุกะ ฮุวะ อุมรุกะ” ที่มา http://www.saaid.net/female/r166.htm)

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
2 ความเห็น

Posted by บน สิงหาคม 23, 2015 นิ้ว บทความ, หลักการ-แนวทาง

 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 5 : การโต้เถียงกันในประเด็นศาสนา)

Facebook-Debate

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๕ : การโต้เถียงกันในประเด็นศาสนา

ในโลกมายา…สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับบุคคลที่ขาดความรู้และศรัทธาอ่อนแอ โต้เถียงกันในประเด็นศาสนาตลอดจนเรื่องดุนยา โลกเสมือนจริงนี้คือสถานที่หลบซ่อนที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีใจแคระกร่อนและขี้ขลาด บางครั้งโต้เถียงกันไปมาด้วยคำพูดที่รุนแรงและหยาบคาบ และบางครั้งก็ถึงขั้นกล่าวหากันและกันว่าเป็นพวกอุตริในศาสนา(บิดอะฮฺ)และหลงผิด หรืออาจเลยเถิดถึงขั้นกาฟิร สิ่งนี้ทำให้เสียเวลาโดยสูญเปล่าและไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีที่โต้เถียงกันนั้นเป็นคนเขลา ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เขาก็พ่ายแพ้และไร้หนทางออก

ทางที่ดีแล้วควรหลีกห่างจากสิ่งเหล่านี้ และรักษาเนื้อรักษาตัวหรือออกจากจุดนั้นเสีย หากเริ่มมีคนชวนมาเถียง เพราะในฐานะมุสลิมนั้น เจตนาของเราคือการตักเตือนกันด้วยวิธีการที่ดี หากคำตักเตือนถูกน้อมรับ…อัลหัมดุลิลลาฮ แต่หากไม่แล้ว เราก็ยังคงเป็นพี่น้องกันที่มีสิทธิ์ได้รับการปฏิบัติด้วยดีตามสิทธิแห่งความเป็นพี่น้องกันในอิสลาม ไม่ใช่กลายเป็นศัตรูและไม่ยอมอภัยให้แก่กัน

ท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลฯ ได้เคยเตือนถึงเรื่องนี้ไว้แล้ว ท่านกล่าวว่า

مَا ضَلَّ قَوْمٌ بَعْدَ هُدًى كَانُوْا عَلَيْهِ إِلاَّ أُوْتُوْا الْجَدَلَ، ثُمَّ قَرَأَ : مَا ضَرَبُوْهُ لَكَ إِلاَّ جَدَلاً
ไม่มีกลุ่มชนใดที่หลงผิดหลังจากที่พวกเขาเคยอยู่บนทางนำ นอกจากว่าพวกเขาชื่นชอบการโต้เถียง หลังจากท่านเราะสูลฯ ก็อ่านว่า “พวกเขามิได้เปรียบเทียบเรื่องนั้นแก่เจ้าเพื่อการอื่นใดนอกจากเพื่อโต้เถียง” (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ และอิบนุมาญะฮฺ)

อิมามอัชชาฟิอีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ กล่าวว่า

الْمِرَاءُ فِي الْعِلْمِ يُقَسِّي الْقُلُوبَ وَيُوَرِّثُ الضَّغَائِنَ .
การโต้เถียงในเรื่องความรู้ จะทำให้หัวใจแข็งกระด้างและสานต่อการแก้แค้น

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 4 : ปรากฏการณ์ “อาจารย์จานด่วน” และ “อุสตาซกูเกิ้ล”)

Ustazd Google

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๔ : ปรากฏการณ์ “อาจารย์จานด่วน” และ “อุสตาซกูเกิ้ล”

ในตอนแรกเริ่ม….เจตนาของพวกเราอาจจะบริสุทธิ์และจริงใจในการเผยแผ่ความรู้ศาสนาผ่านโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเฟสบุ๊ค แต่ในตอนท้ายนั้น ผู้คนทั่วไป(เอาวาม)อาจเข้าใจผิดคิดเชื่อไปเองว่า ตัวเราหรือเขาคนนี้เป็นคนที่มีความรู้ และเป็นอาจารย์หรืออุสตาซที่สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงกลับในเรื่องศาสนาได้ ทั้งที่งานเขียน บทความ หรือสเตตัสต่างๆที่เขานำเสนอนั้น เขาเพียงแค่ “คัดลอกแล้ววาง” (Copy-Paste) เท่านั้น ไม่ได้เรียนรู้หลักการพื้นฐาน(อุศูล)และไม่มีรากฐานความรู้ศาสนาที่เข้มแข็ง แต่คำว่า “อาจารย์-อุสตาซ” ที่ได้ถูกมอบให้แก่เขา พร้อมกับคำยกย่องชมเชยจากคนทั่วไปนั้น ทำให้เขาลืมตัวและศาสนาในตัวเขาก็ประสบกับฟิตนะฮฺ

“ญะซากัลลอฮุค็อยรอนในความรู้ครับ/ค่ะ อุสตาซ”
“ชุกร็อนครับ/ค่ะ อุสตาซ”
“มีประโยชน์มากเลยครับ/ค่ะ อุสตาซ”

นั่นคือคำพูดคำชมเชยที่สามารถสร้างฟิตนะฮฺสำหรับตัวเขาหรือเราได้ จนกระทั่งเมื่อมีคนมาถามคำถามระดับสูงที่เกินระดับความรู้ของเขา เขาก็ไม่กล้าตอบว่า “ผมไม่รู้” แต่กลับไปค้นหาดูคำตอบในโปรแกรมค้นหา(Search Engine)อย่างกูเกิ้ล แล้วกลับมาฟัตวา

ทั้งๆที่ข้อมูลเนื้อหาอ้างอิงที่เขาได้รับมานั้นก็ยังไม่แน่ว่าจะถูกต้อง ข้อคิดเห็น และ/หรือข้อสรุปที่เขาได้รับมานั้นก็ยังไม่แน่ไม่นอนว่าถูกต้อง บางทีอาจมีทัศนะความเห็นอื่นๆเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆอีกก็ได้

ขออัลลอฮทรงปกป้องเราจากสภาพเช่นนี้ เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นการพูดในนามของอัลลอฮโดยปราศจากความรู้ ซึ่งเป็นบาปที่ใหญ่ ถัดจากบาปจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ

อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ตรัสว่า

قُلْ إِنَّمَا حَرَّمَ رَبِّيَ الْفَوَاحِشَ مَا ظَهَرَ مِنْهَا وَمَا بَطَنَ وَالْإِثْمَ وَالْبَغْيَ بِغَيْرِ الْحَقِّ وَأَنْ تُشْرِكُوا بِاللَّهِ مَا لَمْ يُنَزِّلْ بِهِ سُلْطَانًا وَأَنْ تَقُولُوا عَلَى اللَّهِ مَا لَا تَعْلَمُونَ
จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า แท้จริงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันทรงห้ามนั้น คือสิ่งที่ชั่วช้าน่ารังเกียจทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสิ่งที่เปิดเผยและสิ่งที่ไม่ปกปิด และสิ่งที่เป็นบาป และการข่มเหงรังแกโดยไม่ชอบธรรม และการที่พวกเจ้าให้สิ่งซึ่งอัลลอฮมิได้ประทานหลักฐานใดๆลงมาแก่สิ่งนั้นให้เป็นภาคีแก่อัลลอฮฺ และการที่พวกเจ้ากล่าวให้ภัยแก่อัลลอฮในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้ (บทที่ ๗ อัลอะอฺร็อฟ โองการที่ ๓๓)

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 3 : ไม่มีความรับผิดชอบ(อมานะฮฺ)ในทางวิชาการ)

Facebook-pen

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๓ : ไม่มีความรับผิดชอบ(อมานะฮฺ)ในทางวิชาการ

อัลหัมดุลิลลาฮ…เฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆนั้นถือเป็นเครื่องมือหรือสื่อที่สามารถใช้แข่งขันกันเผยแผ่ความดีได้ ผู้คนมากมายต่างแชร์สถานะหรือสเตตัสดีๆที่เป็นคำนะศีหะฮฺและบันทึกบทความต่างๆ แต่ว่า…บางครั้งก็ลืมใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบในทางวิชาการ บางคนสร้างบันทึกบทความเกี่ยวกับศาสนาทุกวันหรือบ่อยครั้งด้วยการ “คัดลอกแล้ววาง” (Copy-paste) แต่ไม่อ้างแหล่งที่มาของบทความนั้นๆ หรือเขียนความคิดเห็นเล็กๆน้อยๆผสมรวมไปในบทความดังกล่าว แล้วอ้างว่าตนเขียนบทความนั้นเอง

สิ่งนี้พบเห็นได้ เมื่อคนๆหนึ่งเกิดรู้สึกเสียใจเมื่อบทความที่เขาได้เขียนขึ้นมาถูกโพสส์ในรูปแบบบันทึกโดยคนอื่น โดยที่คนอื่นนี้อ้างว่าบทความนี้คืองานเขียนของตัวเขา แต่หลังจากที่มีการตรวจสอบและสืบค้นดู ด้วยการคัดลองวรรคหนึ่งจากบทความนั้น แล้วนำไปวางไว้ในเครื่องมือหรือโปรแกรมค้นหา(Search Engine)อย่างเว็บไซต์กูเกิ้ล ก็จะพบว่าบันทึกที่คนๆนั้นได้สร้างขึ้นในแต่ละวันนั้นมีที่มาจากเว็บไซต์หรือบล๊อกของคนอื่น

นี่คือฟิตนะฮฺในศาสนา คือบททดสอบที่ร้ายกาจจากคนที่ปรารถนาคำสรรเสริญเยินยอจากผู้คน คือการโอ้อวดและหยิ่งยโสด้วยความรู้ศาสนา แต่คนแบบนี้ที่อยากได้คำชมและต้องการโอ้อวดนั้น ไม่ใช่ด้วยกับความรู้ของเขาเอง แต่ทว่าด้วยกับการโกหกหลอกลวง

คนที่ศึกษาความรู้ศาสนาเพราะต้องการการยกย่องชมเชยจากผู้คน บทลงโทษสำหรับเขาในโลกอาคิเราะฮฺนั้นรุนแรงนัก และเขาจะเป็นคนแรกสุดที่จะถูกสอบสวนและลากลงสู่นรกอเวจี มีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า

قَالَ: سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ يَقُوْلُ : إِنَّ اَوَّلَ النَّاسِ يُقْضَى يَوْمَ الْقِيَامَةِوَرَجُلٌ تَعَلَّمَ الْعِلْمَ وَعَلَّمَهُ وَقَرَأََ اْلقُرْآنَ فَأُُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَعَهَا, قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيْهَا؟ قَالَ: تَعَلَّمْتُ الْعِلْمَ وَعَلَّمْتُهُ وَقَرَأْتُ فِيْكَ اْلقُرْآنَ, قَالَ:كَذَبْتَ, وَلَكِنَّكَ تَعَلَّمْتَ الْعِلْمَ لِيُقَالَ: عَالِمٌ وَقَرَأْتَ اْلقُرْآنَ لِيُقَالَ هُوَ قَارِىءٌٌ ، فَقَدْ قِيْلَ ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى اُلْقِيَ فيِ النَّارِ,

          ข้าพเจ้าได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลฯ กล่าวว่า แท้จริงมนุษย์คนแรกที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือคนที่ตายชะฮีดในหนทางของอัลลอฮ…และคนต่อมาคือคนที่ศึกษาหาความรู้ สอน และอ่านอัลกุรอาน เขาถูกนำตัวมาและได้เห็นความโปรดปรานต่างๆของตนเอง และเขาก็ยอมรับมัน จากนั้นอัลลอฮก็ถามเขาว่า เจ้าทำอย่างไรบ้างกับความโปรดปรานเหล่านั้น? เขาตอบว่า ข้าพระองค์ศึกษาความรู้และสอนมัน และข้าพระองค์อ่านอัลกุรอานเพื่อพระองค์ท่าน อัลลอฮตรัสว่า เจ้าโกหก…เจ้าศึกษาความรู้เพียงเพื่อจะถูกเรียกว่าเป็นผู้รู้ และเจ้าอ่านอัลกุรอานก็เพียงเพื่อจะได้ถูกเรียกว่าเป็นนักอ่านที่ดี และเจ้าก็ถูกเรียกเช่นนั้น หลังจากนั้นก็ได้มีคำสั่ง(แก่มลาอิกะฮฺ)ให้ลากใบหน้าของเขาและโยนเขาทิ้งลงไปในไฟนรก (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขที่ 1905)

หากผู้ที่ศึกษาหาความรู้เพราะต้องการคำยกย่องสรรเสริญจากมนุษย์ยังถูกลงโทษเช่นนี้ แล้วคนที่อ้างความรู้โดยหลอกลวงด้วยการ “คัดลอก-วาง” (Copy-Paste) บทความของผู้คนอย่างไร้ความรับผิดชอบในทางวิชาการจะเป็นเช่นไร?…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 2 : ฟิตนะฮฺรูปภาพและการมอง)

Facebook-2

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์

ฟิตนะฮฺที่ ๒ : ฟิตนะฮฺรูปภาพและการมอง

ในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค รูปภาพต่างๆมีมากมายพบเห็นได้ทั่วไป และบางรูปภาพนั้นสามารถกระตุ้นอารมณ์ความต้องการในทางต่ำและกัดกินหัวใจและศรัทธาให้อ่อนแอได้ ยกตัวอย่างเช่น ในโลกเฟสบุ๊คนั้นมีรูปภาพสตรีหรือผู้หญิงที่นำเสนอรูปภาพของพวกเธอ(ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพดั้งเดิมหรือที่ผ่านการตัดต่อมาแล้ว) สำหรับชายใดที่ศรัทธาของเขาอ่อนแรง พวกเขาก็จะมองดูรูปภาพเหล่านั้น ส่วนชายที่มีภรรยาแล้ว พวกเขาก็จะทำการเปรียบเทียบกับภรรยาของตนเอง จนกระทั่งเกิดความรู้สึกไม่เพียงพอและไม่ขอบคุณในสิ่งที่ภรรยาของตนมี ซึ่งอาจทำให้ความรู้สึกรักต่อภรรยาของเขาเปลี่ยนกลายเป็นความหยาบคายได้

รวมถึงรูปภาพโฆษณาต่างๆฝั่งขวามือบนหน้าเฟสบุ๊ค ซึ่งมีรูปภาพและหัวข้อเรื่องต่างๆที่กระตุ้นให้เหล่าชายคลิกเปิดมันเข้าไป และแน่นอนนั่นคือแผนซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการเข้าชมเว็บไซต์ของพวกเขา

อันตรายของการมองสิ่งต้องห้ามนั้น หลักการศาสนาได้เตือนไว้ก่อนแล้ว และแน่นอนบุคคลผู้มีจิตใจที่บริสุทธิ์นั้นย่อมรู้สึกไม่สงบสุขและรู้สึกเสียใจทุกครั้งที่พลั้งพลาดไปประสบกับมัน

ท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลฯ ได้กล่าวแก่อลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า

يَا عَلِىُّ لاَ تُتْبِعِ النَّظْرَةَ النَّظْرَةَ فَإِنَّ لَكَ الأُولَى وَلَيْسَتْ لَكَ الآخِرَةُ
อลีเอ๋ย…ท่านอย่าได้ติดตามการมอง(ครั้งแรก)นั้นด้วยการมอง(ครั้งต่อไป) แท้จริง(การมอง)ครั้งแรกนั้นสำหรับท่าน แต่(การมอง)ครั้งหลังนั้นไม่ใช่ (บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลขที่ 2134 ชัยคฺ อัลอัลบานีย์ รับรองว่า เศาะฮีหฺ)

ท่านเราะสูลฯ ยังกล่าวไว้อีกว่า

النظر إلى محاسن المرأة سهم من سهام إبليس مسموم , فمن صرف بصره عنها رزقه الله تعالى عبادة يجد حلاوتها
การมองไปยังความสวยงามของสตรีคนหนึ่งนั้น คือลูกศรอาบยาพิษลูกศรหนึ่งจากบรรดาลูกศรทั้งหลายของอิบลีส ใครก็ตามที่หลีกเลี่ยงจากการมันได้ อัลลอฮจะทรงประธานความหอมหวานในการอิบาดะฮฺแก่เขา

…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
 

ป้ายกำกับ: , , , , , ,

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค (ฟิตนะฮฺที่ 1 : ฟิตนะฮฺเพศตรงข้าม)

Facebook-1

ฟิตนะฮฺในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ฟิตนะฮฺที่ ๑ : ฟิตนะฮฺเพศตรงข้าม

ในโลกเฟสบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทุกคนมีอิสระในการมีปฏิสัมพันธ์และคบหากัน สำหรับคนที่ใส่ใจในขอบเขตของหลักการศาสนา พวกเขาก็จะน้อมรับปฏิบัติตามหลักการ คือเรื่องขอบเขตและลดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามที่ไม่ใช่มะหฺรอมให้น้อยที่สุด ติดต่อกันเมื่อมีความจำเป็นยิ่งยวดเท่านั้น ในโลกจริงพวกเขาอาจจะเขินอายและไม่กล้าทักทายพูดคุยกัน แต่ในโลกมายานี้มันง่ายเหลือเกิน อีกทั้งยังถูกปกปิดเป็นความลับด้วย

ฟิตนะฮฺนี้เป็นได้ทั้งไวรัสสีชมพู ลูกศรรัก และสุราราคะซึ่งสามารถมอมเมาจิตใจและทำลายศาสนาของคนๆหนึ่งได้ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบอื่นๆอีก เช่น ความไม่ซื่อตรงระหว่างสามีภรรยาซึ่งนำไปสู่การหย่าร้างและทำลายครอบครัว เราไม่เคยได้ยินบ้างเลยหรือ? ข่าวคราวของผู้หญิงที่ถูกขมขืนโดยเพื่อนชาวเฟสบุ๊คของเธอเอง หลังจากที่ได้นัดเจอกัน หรือเรื่องอื่นๆในทำนองนี้

บุคคลที่กล่าวถึงอันตรายของฟิตนะฮฺเพศตรงข้ามนี้ไม่ใช่ใครอื่น คือท่านเราะสูลุลลอฮ เอง ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า

مَا تَرَكْتُ بَعْدِى فِتْنَةً أَضَرَّ عَلَى الرِّجَالِ مِنَ النِّسَاءِ
ข้าพเจ้ามิได้ทิ้งฟิตนะฮฺใดหลังจากข้าพเจ้าจากไป ซึ่งเป็นอันตรายสำหรับบุรุษทั้งหลาย มากไปกว่า(ฟิตนะฮฺของ)สตรี (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลขที่ 5096 และมุสลิม หมายเลขที่ 7122)

สตรีก็เช่นเดียวกัน พวกเธอคือพี่น้องท้องเดียวกันบุรุษทั้งหลาย มีความรู้สึกที่เหมือนกัน มีความต้องการที่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำชมเชยหรือการให้ความหวังจากพวกผู้ชาย…วัลลอฮุอะอฺลัม

 
2 ความเห็น

Posted by บน สิงหาคม 20, 2015 นิ้ว บทความ, หลักการ-แนวทาง

 

ป้ายกำกับ: , , , , , , , ,

 
Blog Abu Umamah™

Media Belajar Dan Berbagi Ilmu Islam Ahlussunnah Wal Jama'ah

Baannada The Coach

บ้านณดาเดอะโค้ช- เพจเลี้ยงลูกเชิงบวกแบบฉบับโค้ชชีวิต เลี้ยง-เล่น-เที่ยว-ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายไปกับลูก

Insyaflah, wahai Salafy!

Kalau tidak ada yang menjelaskan ... bagaimana ummat bisa tahu ?

faham.wordpress.com

Tugas pertama kita adalah memahami Islam, bukan sekedar mengetahui dalilnya

irwandizakaria-blog

Berikan yang Terbaik, Insya Allah akan Dapat Yang Terbaik

Renaissance

ไม่จุดเริ่มต้นไม่มีที่สิ้นสุด

Terjemah Kitab Salaf

membumikan dakwah ahlus sunnah

Bahasa Arab Jarak Jauh at-Taisir

Mempelajari Bahasa al-Qur'an dan as-Sunnah

Ibnu Taimiyah

Menguak keagungan seorang Syaikhul Islam

ABU MUSA AL-ATSARI

Belajar Islam, Menikmati Alam

Meniti Jalan menuntut Ilmu

Membuka Jalan Menuju Surga...

bushrohouse

ห้องสมุดบ้านบุชรอ : ห้องสมุดเพื่ออุมมะฮฺ

Para Ulama Ahlul Hadits

Biografi Ahlul Hadits, Para Sahabat, Tabi’in dan Tabiut Tabi’in beserta Keluarga Rasulullah صلى ا لله عليه وسلم

Salafy

Meneladani Generasi Terdahulu yang Shalih

บ้านเรียนอัลอัรกอม

ปฏิบัติดี วิถีอิสลาม ความรู้กว้างไกล

Mengenal Ajaran Islam Lebih Dekat

Islam, Rumaysho, Salafi, Ahlus Sunnah, Ahlus Sunnah wal Jama'ah, Muslim